วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การใช้สำนวนโวหาร

สำนวนโวหารในภาษาไทย แบ่งออกเป็น 5 คือ
1) บรรยายโวหาร
          เล่าเรื่อง หรืออธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ตามลำดับเหตุการณ์ เขียนตรงไปตรงมา รวบรัด ได้แก่ การเขียนอธิบายประเภทต่าง ๆ เช่น เขียนรายงานวิทยานิพนธ์ ตำรา บทความ การเขียนเพื่อเล่าเรื่อง เช่น บันทึก จดหมายเหตุ การเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นประเภทบทความเชิงวิจารณ์ ข่าว เป็นต้น
          ตัวอย่างบรรยายโวหาร
          พ่อเดินเข้าหากอไผ่ป่า เลือกตัดลำเท่าขามาสองปล้อง ทำเป็นกระบอก คัดเห็ดดอกใหญ่ไปล้างในลำห้วยจนสะอาด บรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่จนแน่น ไม่ต้องใส่น้ำ เติมเกลือและเติมน้ำพริกลงไปพอเหมาะ ก่อไฟเผากระบอกไม้ไผ่นั้น ไม่นานนักเห็ดก็ขับน้ำออกมาเดือดปุด ๆ

2) พรรณนาโวหาร
          มุ่งให้ความแจ่มแจ้ง ละเอียดลออ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ซาบซึ้งเพลิดเพลินไปกับข้อความนั้นการเขียนพรรณาโวหารจึงยาวกว่าบรรยายโวหารมาก มุ่งให้ภาพ และอารมณ์ จึงมักใช้การเล่นคำ เล่นเสียง ใช้ภาพพจน์ เต็มด้วยสำนวนโวหารที่ไพเราะ อ่านได้รสชาติ
          ตัวอย่างพรรณนาโวหาร
          วันเพ็ญ พระจันทร์สีนวลจ้าส่องแสงอยู่วงรัศมีสีขาว น้ำขึ้นเต็มฝั่ง นิ่งไม่กระดุกกระดิก แต่เป็นเงาแวววาวเหมือนถาดเงินใบใหญ่ที่ขัดมัน ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนหนึ่งมีต้นลำพูต้นใหญ่

3) เทศนาโวหาร
          โวหารที่ผู้เขียนมุ่งจะสั่งสอนคุณธรรมหรือจรรโลงใจผู้อ่านหรือปลุกใจ จูงใจให้ผู้อ่านคล้อยตาม
          ตัวอย่างเทศนาโวหาร
          ทำอะไรก็อย่าทำด้วยความอยากมีอยากเป็น อยากได้นั่นอยากได้นี่ แต่เราทำไปตามหน้าที่ของเรา เรามีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่นั้นให้สมบูรณ์ ให้เรียบร้อย ไม่ต้องมีความอยากจะได้ อยากจะเป็นก็ทำได้ ทำเพราะสำนึกในหน้าที่ มันเป็นเหตุให้กระตุ้นเตือนให้กระทำเพราะความสำนึกว่าเราเกิดเพื่อหน้าที่ หรือคำพูดที่เคยพูดบ่อย ๆ ว่า “งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขขณะทำงาน”

4) สาธกโวหาร
          โวหารที่มุ่งให้ความชัดเจน โดยการยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้แจ่มแจ้งหรือสนับสนุนความคิดเห็นที่เสนอให้หนักแน่น น่าเชื่อถือ
          ตัวอย่างสาธกโวหาร
                                         โยคีเทศนาทหารทัพลังกาและเมืองผลึกในเรื่องพระอภัยมณี
                                        คือรูปรสกลิ่นเสียงไม่เที่ยงแท้              ย่อมเฒ่าแก่เกิดโรคโศกสงสาร
                                        ความตายหนึ่งพึงเห็นเป็นประธาน        หวังนิพพานพ้นทุกข์สุขสบาย
                                        ซึ่งบ้านเมืองเคืองเข็ญถึงเช่นนี้             เพราะโลกีย์ตัณหาพาฉิบหาย
                                        อันศีลห้าว่าอย่าทำให้จำตาย                จะตกอบายภูมิขุมนรก

5) อุปมาโวหาร
          โวหารเปรียบเทียบ โดยกตัวอย่าง สิ่งที่คล้ายคลึงกันมาเปรียบเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านความหมาย ด้านภาพ และเกิดอารมณ์ ความรู้สึกมากยิ่งขึ้น อุปมาโวหารมักจะปรากฏพร้อมกับพรรณนานาโวหารเสมอ
          ตัวอย่างอุปมาโวหาร
          เช้าวันต่อมา พระอาทิตย์ทอแสงอันแจ่มใสเมื่อรุ่งอรุณ น้ำฝนที่ติดอยู่ตามใบไม้ กอหญ้าต้องแสงอาทิตย์เป็นประกาย เมฆฝนที่ทะมึนอยู่เมื่อกลางคืนเหลือในสภาพเหมือนปุยนุ่นเล็ก ๆ ที่ถูกลมพัดปลิวไปติดขอบฟ้า นกยางฝูงหนึ่งบินผ่านท้องน้ำตรงคุ้งสำเภาไปอย่างเชื่องช้า มุ่งหน้าไปหากินกลางทุ่ง ธรรมชาติลืมโทสะที่บังเกิดขึ้นเมื่อตอนกลางคืนนั้นแล้วสิ้นและเริ่มวันใหม่ด้วยอาการอันแจ่มใสเหมือนกับเด็กที่ยิ้มเบิกบานทั้งน้ำตา

ที่มา : http://www.kr.ac.th/tech/nittaya48/writh50.html
          http://www.kru-itth.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=191880&Ntype=4

5 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากกกจ้า พี่ปอยสุดสวย

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ7 เมษายน 2553 เวลา 16:16

    การใช้สำนวนโวหาร จะออกสอบประมาณกี่ข้อค่ะพี่ปอย

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ13 สิงหาคม 2553 เวลา 19:57

    ก็ดีอยู่หรอก

    ตอบลบ
  4. thank you so much

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ12 ธันวาคม 2554 เวลา 10:03

    ขอบคุณค่ะ กำลังเียนเรื่องนี้อยู่พอดี

    ตอบลบ